มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพและการเรียนรู้ สร้างทักษะภูมิคุ้มกัน ทักษะการรู้เท่าทันตนเอง เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม การสร้างภูมิรู้ ส่งเสริมการมีสุขภาวะทางปัญญา และทักษะความเป็นพลเมือง นักปฏิบัติการ นักสร้างสรรค์ นักสื่อสารชุมชนสังคม และให้ความสำคัญเด็กเยาวชนควรได้รับการเข้าถึงปัจจัยด้านบวก การมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์ มีนิเวศสื่อสุขภาวะ ที่ส่งผลต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กเยาวชน
สภาพแวดล้อมนิเวศสื่อสุขภาวะ ประกอบไปด้วย
การมีพื้นที่ปลอดภัย ในที่นี้หมายถึง พื้นที่ทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงของจิตใจ รวมถึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางความคิด พื้นที่ที่คนอยู่แล้วสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ สามารถแสดงความรู้สึก ความคิดเห็น แนวคิดต่างๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวถูกตัดสินผิด-ถูก ดี-ไม่ดี ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ท้าทาย เพราะเมื่อผู้คนอยู่รวมกัน แล้วมีสิทธิ เสรีภาพ ในการเป็นตัวเอง สามารถแสดงความเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา ย่อมเกิดเป็นสังคมแห่งความแตกต่างหลากหลาย แต่เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเหมือนกันเสมอไป เราสามารถเห็นต่างกันได้ พื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากพอ จะท้าทายและผลักดันให้เรากล้าเผชิญหน้าเพื่อแลกเปลี่ยน ถกเถียง สามารถเกิดการปะทะได้ สั่นสะเทือนได้ แต่ยังคงปลอดภัย หมายถึง เมื่อเกิดความขัดแย้ง เราจะพร้อมก้าวออกมาทำความเข้าใจแบบไม่มีอคติใดๆ เมื่อได้เรียนรู้ ได้บทเรียน ได้ตกตะกอนทบทวนตัวเอง ก็จะเกิดกระบวนการที่นำไปสู่การเติบโตภายใน และเป็นพื้นที่สร้างพลังให้กับผู้คน
พื้นที่สร้างสรรค์ หมายถึง พื้นที่เชื่อมร้อยผู้คน ส่งเสริม สร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผู้คน ครอบครัว พื้นที่ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ ทั้งเรียนรู้โดยตัวพื้นที่ หรือองค์ความรู้ พื้นที่ที่มีการจัดการให้ทุกคนสามารถเสข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยต้องเข้าถึงง่าย มีความต่อเนื่อง มีชีวิต สร้างพลังบวกพลังชีวิต
พื้นที่เรียนรู้ หมายถึง พื้นที่ทางสังคม เป็นพื้นที่ทางกายภาพที่จับต้องได้ และพื้นที่เสมือน โดยพื้นที่ทางกายภาพต้องมีการออกแบบ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทั้งเป็นต้นทุนความรู้จากชุมชน ความรู้ในการเสริมทักษะชีวิต ความรู้จากการลงมือทำ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นผ่านการเล่น หรืออาจจะเป็นกิจกรรมเชิงศิลปะ องค์ความรู้ร่วมถึงหลักสูตรจากการทำงาน รวมถึงกิจกรรมชนิดอื่น และเป็นการเรียนรู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กันก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่ เป็นทางการ (informal learning) อันนำไปสู่การส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ที่เป็นทางการ (formal learning) และพื้นที่เสมือน หรือพื้นที่ออนไลน์ ที่เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ประสบการณ์จากการทำงาน เรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) การบรรยาย และการนำเสนอผลงาน
พื้นที่สื่อสาร ในที่นี้หมายถึง พื้นที่ปฏิบัติการสื่อสารเนื้อหาสุขภาวะ ซึ่งรวมถึงข้อมูลต้นทุนชุมชน องค์ความรู้ หรือชุดประสบการณ์การขับเคลื่อนงานส่งเสริมพลเมือง ร่วมสร้างสรรค์ชุมชน สังคม สื่อสารพลังของเด็กเยาวชน พลังเครือข่าย พลังของการมีส่วนร่วมของผู้คน พื้นที่สื่อสารที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกความเป็นพลเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งรวมผู้คนที่มีเป้าหมายเดียวกัน ในการร่วมสร้างสรรค์ ส่งเสริมความเป็นธรรม ลดอคติทางสังคม เป็นพื้นที่ส่งเสียงของพลเมืองต่อความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ทางกายภาพ และทาง Social Media
พื้นที่ความสัมพันธ์ หมายถึง พื้นที่ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ของผู้คน อาจจะเป็นพื้นที่ทางกายภาพที่มีการออกแบบจัดสภาพแวดล้อม การจัดวางกิจกรรรมสร้างสรรค์ สำหรับคนทุกคน เพื่อให้คนที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ช่วงวัย ความคิด อาชีพ ภาษา กลุ่มเปราะบาง ในที่นี้สามารถรวมถึง ระดับครอบครัว คือ พื้นที่บ้าน ระดับชุมชน หรือสังคม คือ พื้นที่สาธารณะในชุมชน สังคม พื้นที่กลางของโรงเรียน หรือสถานศึกษา สามารถมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกันตามความสนใจ และเมื่อเข้ามาแล้วส่งผลต่อความรู้สึกเป็นที่ยอมรับ มีความสุข มีความอาทรต่อกัน
ชุมชนระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ หมายถึง ชุมชนที่มีการออกแบบการจัด จัดสภาพแวดล้อม ปลอดภัย สร้างสรรค์ ในชุมชน มีพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ความสัมพันธ์ และพื้นที่การสื่อสาร ให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมสุขภาวะองค์รวมของคนในชุมชน ภายใต้การทำงานนำทุนและองค์ความรู้ในพื้นที่ เชื่อมร้อยกลไกที่เกี่ยวข้องในชุมชน และภาคีทางสังคม มาร่วมขับเคลื่อนกู้วิกฤติฟื้นคืนชุมชน ซึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนโดยพลเมือง จะนำมาสู่การแก้ปัญหาในชุมชนและช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ลดความเหลื่อมล้ำ กลุ่มชายขอบในชุมชน ให้เข้าถึงโอกาส ในการเข้าถึงสิทธิ และการบริการ ทั้งด้านทรัพยากร ด้านสาธารณสุข สุขภาพ เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้กิจกรรม และสื่อสร้างสรรค์ ให้กับเด็กเยาวชน ช่วยลดวิกฤตอาหารในชุมชน และเสริมสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือน ในชุมชน
โดยการดำเนินงานมีความสอดคล้อง อ้างอิงตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ใน 4 ด้านหลัก คือ
สิทธิที่จะมีชีวิตรอด ซึ่งไม่เพียงเรื่องของการมีชีวิตรอดได้รับการจดทะเบียนเกิด ได้สัญชาติ และได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวเท่านั้น แต่ต้องมีการเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น การสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานในยามเจ็บป่วย ในด้านโภชนาการ ก็ต้องมีอาหารที่ดีมีประโยชน์ที่เหมาะสำหรับเด็ก มีน้ำดื่มที่สะอาด ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชน ที่สะอาด ตลอดจนโอกาสเข้าถึงการพัฒนาต่อไปในอนาคต ฯลฯ
สิทธิที่จะได้รับการปกป้องครอง เมื่อเด็กๆ ได้เกิดและรอดชีวิตมาแล้ว สิ่งต่อมาที่พวกเขาควรได้รับคือการปกป้องคุ้มครอง คือได้รับความคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ และยังรวมไปถึงการคุ้มครองจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การทำงานอันตราย หรือขัดขวางการศึกษา ในเรื่องสารเสพติดก็เช่นกัน
สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา เด็กต้องได้รับโอกาสพัฒนาและการศึกษาที่เหมาะสม ให้สามารถเติบโตพึ่งพาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนมีส่วนร่วมในชุมชน สิทธิด้านการพัฒนานี้นี้ยังหมายรวมถึงการต่อยอดไปสู่ทักษะเฉพาะต่างๆ การพัฒนาความสามารถทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ที่จะทำให้เด็กๆ ได้ก้าวไปสู่อนาคตที่สดใส และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต
สิทธิที่จะมีส่วนร่วม เพราะเด็ก คือ สมาชิกคนหนึ่งในสังคม จึงมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มตัว ทั้งการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี หรือเข้ามามีบทบาทในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะกับเรื่องที่ส่งผลกระทบ หรือมีส่วนโดยตรงกับตัวเด็กและเยาวชนเอง โดยความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็กคนนั้น